ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนหมอนทองป่าละอู ปี 2566

M.I.W. FOOD ให้บริการรับจ้างผลิตอาหาร OEM ด้วยกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานและรับออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ ของขวัญ ของสมนาคุณ ของฝาก สินค้าพรีเมียม สินค้าส่งเสริมการขาย สินค้าที่ระลึก ในรูปแบบของอาหารที่ได้มาตรฐานอาทิ ทองม้วน ขนมทานเล่น ผลไม้แปรรูป ผลไม้สดนำเข้าและผลไม้ภายในประเทศ สำหรับปีนี้ผลไม้ภายในประเทศ M.I.W. FOOD ขอเสนอทุเรียนหมอนทองปลูกในพื้นที่ป่าละอู ต่อไปเราจะเรียกว่าทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนป่าละอู คือ ทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ที่มีลักษณะ เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อเนียนละเอียด แห้ง กลิ่นอ่อน รสมันหวาน เม็ดลีบเล็ก ที่ผลผลิตในช่วงเดือนระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม ทั้งปลูกบริเวณพื้นที่ป่าละอู ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะผลเป็นวงรี ใต้ผลแหลม ปลายหนามแหลมคมมาก ร่องพูชัดเจน

ลักษณะของทุเรียนของป่าละอู

  • ชื่อไทย : ทุเรียนป่าละอู
  • ชื่ออังกฤษ : Pa la-u-durian
  • พันธุ์ทุเรียน : พันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี
  • ลักษณะทางกายภาพ
    • รูปทรง : ผลเป็นวงรีบริเวณด้านใต้ผลแหลม น้ำหนักระหว่าง 1.5 – 5 กิโลกรัม
    • เปลือก : เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแหลมคมมาก ร่องพูชัดเจน
    • ก้านขั้ว : ค่อนข้างใหญ่ สีน้ำตาล จับดูจะรู้สึกสาก พอแก่จัดขั้วจะมีรสหวาน
    • เนื้อ : เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อเนียน ละเอียด แห้ง มีกลิ่นอ่อน
    • รสชาติ : หวาน มัน
    • เมล็ด : เมล็ดลีบทำให้รู้สึกมีเนื้อหนาขึ้น
  • บริหารจัดการโดย : สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริ
  • ลักษณะเด่น : มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง
  • สถานที่เพาะปลูก : ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในชื่อ “ทุเรียนป่าละอู” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เลขทะเบียน 5410075 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554
  • ผลผลิต : เดือนระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม

ความสัมพันธ์ระหว่างทุเรียนหมอนทองป่าละอูกับแหล่งภูมิศาสตร์

สภาพพื้นที่ เป็นที่ราบเชิงเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 150-200 เมตร สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้นและป่าดิบ พื้นที่ทำเกษตรมีแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรเป็นป่ารกร้าง มีความเหมาะสมในการปลูกทุเรียน พร้อมทั้งฤดูฝน ฝนจะตกหนัก น้ำป่าพัดพาแร่ธาตุอาหารมาในพื้นที่ทำการเกษตรเป็นประจำ

อุณหภูมิ ช่วงกลางวันมีอากาศร้อนจัด ช่วงกลางคืนมีอากาศเย็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ทุเรียนปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ทุเรียนป่าละอูมีรสชาติอร่อย

สภาพน้ำ การให้น้ำของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งไม่มีกรดและด่าง

ลักษณะภูมิอากาศ มี 3 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส

ขอบเขตที่ตั้งแหล่งภูมิศาสตร์

พื้นที่ปลูกทุเรียนของป่าละอูรวมทั้งหมด 11 หมู่บ้านของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ปลูกทุเรียนมีจำนวน 1,760 ไร่

การพิสูจน์แหล่งกำหนด

  1. ทุเรียนป่าละอู ต้องปลูกในพื้นที่ 11 หมู่บ้านของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  2. กระบวนการผลิตต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบ คือ การขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนป่าละอู รวมทั้งต้องมีหลักฐานกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ

ความเป็นมาตามเอกสารการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ทุเรียนป่าละอูเริ่มเข้ามาเพราะปลูกที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ (ป่าละอู) เมื่อปี พ.ศ. 2527 ผู้ที่นำเข้ามาคนแรกคือ นายพยุง พรายใย โดยเริ่มแรกนำเข้ามาทดลองปลูกจำนวน 100 ต้น คือทุเรียนพันธุ์ก้านยาว นำมาจากจังหวัดนนทบุรี และพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จากจังหวัดระยอง (อ้างอิงตามเอกสารการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)

การนำทุเรียนเข้ามาปลูกในพื้นที่ป่าละอูในครั้งนั้นได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ คือรสชาติอร่อยมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผลผลิตของต้นพันธุ์จากพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดระยอง คือมีรสมัน หวานน้อย เนื้อแน่นและกลิ่นไม่แรง จนได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุเรียนป่าละอูมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ทุเรียนต้องมีอัตราความสุก 85% และต้องมีสติ๊กเกอร์กำกับเพื่อบอกแหล่งผลิต วันหมดอายุ เพื่อสะดวกต่อการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ

ประวัติความเป็นมา

สำหรับทุเรียนป่าละอู เป็นทุเรียนพันธุ์ “หมอนทอง” พระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชทานให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดนนำไปปลูกที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนกลายเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เมื่อครั้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ร.ร.อานันท์ ที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (อ้างอิงข้อมูลจาก ryt9.com)

และต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์ให้ตั้ง โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ป่าเด็ง-ป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นผู้บริหารโครงการในเขตแต่ละจังหวัด การดำเนินงานตามโครงการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน (ข้อมูลจาก prachuapkhirikhan.go.th)

หลังจากนั้นก็มีเกษตรกรปลูกทุเรียนจำนวนมาก จึงได้มีการรวมตัวของผู้ปลูกทุเรียนป่าละอูในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของต้นทุเรียน ทั้งมีความชื้นสัมพัทธ์สูง มีอุณหภูมิต่ำเวลากลางคืน ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลบ่าจากยอดเขา พัดพาแร่ธาตุอาหารมาเติมให้กับพื้นที่การเกษตรเป็นประจำทุกปี และเป็นดินร่วนปนทราย น้ำขังไม่นาน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกทุเรียน

ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน ทุก ๆ ปีองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ได้จัดให้มีการประกวดทุเรียน ชมและชิม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน ทำให้มีความต้องการที่จะซื้อหามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาของทุเรียนป่าละอูเพิ่มสูงขึ้น เพราะผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ความแตกต่างของทุเรียนป่าละอูแท้ และ ทุเรียนทั่วไป

สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตรและได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกทุเรียนที่มีความแตกต่างจากแหล่งอื่น

ลักษณะของสินค้า ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนทั่วไป
ขนาดของผล ผลใหญ่กว่าน้ำหนัก 1.5-5.0 กิโลกรัม ผลเล็กกว่าน้ำหนัก 0.5-4.0 กิโลกรัม
ผลผลิตจะออก ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. ระหว่างเดือน เม.ย-ก.ย.
ลักษณะผล รูปเป็นวงรี ด้านใต้ผลจะแหลม รูปทรงกลมหรือทรงไข่
สีของเปลือก สีเขียวปนน้ำตาล สีน้ำตาล
ปลายหนาม ปลายหนามคมมาก ร่องพูชัดเจน ปลายหนามไม่คมมาก ร่องพูไม่ชัดเจน
ก้านขั้ว ขั้วค่อนข้างใหญ่ สาก ขั้วมีรสหวาน ขั้วค่อนข้างเล็ก ไม่สากมาก ขั้วไม่หวาน
เนื้อทุเรียน เนื้อหนา สีเหลืองอ่อนเนื้อเนียนละเอียด และเนื้อแห้ง เนื้อบาง สีเหลืองแก่ เนื้อไม่เนียน ไม่ละเอียดและไม่แห้ง
รสชาติ มีความมันมากกว่าความหวาน มีความหวานมาก
กลิ่น มีกลิ่นไม่รุนแรง มีกลิ่นรุนแรง

สวนทุเรียนป่าละอู โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่